มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม

มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Familial Colorectal Cancer) สำหรับประชาชนทั่วไป



     มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้ทั้งที่เกิดขึ้นเองจากความผิดปกติในผู้ป่วยกับชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดจากได้รับยีนที่ผิดปกติมาจากบิดาหรือมารดา  ถ้าเราทำการศึกษาประวัติครอบครัวในผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้จำนวน 100 คน เราจะพบว่ามีกลุ่มคน 75คนที่ไม่มีบุคคลอื่นๆในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในขณะที่อีกประมาณ 20 คนมีประวัติคนอื่นๆ ในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน ในปัจจุบันมีการค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ที่ถ่ายทอดกันภายในครอบครัวบ้างแล้วบางส่วน แต่ในบางส่วนก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเกิดจากความผิดปกติของยีนใด ลักษณะสำคัญที่สันนิษฐานว่าเป็นมะเร็งลำไส้ชนิดที่ถ่ายทอดในครอบครัวนั้น มักพบว่ามีบุคคลในครอบครัวมากกว่า 1 คนที่เป็นโรคเดียวกัน พบมะเร็งขณะที่อายุน้อยกว่าอายุเฉลี่ยในประชากร  มะเร็งลำไส้ชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดที่พบได้ประมาณ 5% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ทั้งหมด และทราบว่าเกิดจากความผิดปกติของยีนใด แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ Familial adenomatous polyposis (FAP) และ hereditary nonpolyposis colorectal cancer (HNPCC)



FAP หรือ Familial adenomatous polyposis

     Familial adenomatous polyposis (FAP) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย กล่าวคือ พบได้ประมาณ 0.5-1% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยีนที่เป็นสาเหตุของโรคนี้คือ ยีน APC (Adenomatous Polyposis Coli) ผู้ที่พบการกลายพันธุ์ของยีน APC จะเป็นผู้ที่มีโอกาสเป็นโรค FAP โดยที่ผู้ป่วยได้รับยีนที่ผิดปกติมาจากพ่อหรือแม่และเนื่องจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคนี้มีลักษณะการถ่ายทอดผ่านยีนเด่น (autosomal dominant manner) หมายความว่าเกิดโรคได้เมื่อได้รับยีนที่ผิดปกติมาเพียงยีนเดียวก็เพียงพอต่อการทำให้เป็นโรคได้แล้ว ตัวอย่างเช่นกรณีที่พ่อเป็นโรค แสดงว่าพ่อมียีน APC ที่ปกติหนึ่งยีนและยีนที่ผิดปกติหนึ่งยีน แม่ที่ปกติไม่เป็นโรคแสดงว่ามียีน APC ที่ปกติทั้งสองยีน  ลูกที่เกิดจากพ่อแม่คู่นี้มีโอกาสได้รับยีน APC ที่ปกติหรือยีนที่ผิดปกติจากพ่อ โอกาสเป็น 50% ดังนั้นถ้าพ่อเป็นโรคนี้อยู่ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคนี้ได้ 50% ถ้าได้ยีนที่ผิดปกติจากพ่อเป็นโรคเช่นเดียวกับพ่อ ดังนั้นผู้ที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีน APC หรือมีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรค FAP หรือญาติใกล้ชิดพบการกลายพันธุ์ของยีนAPC จัดว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ลักษณะอาการของโรคนี้คือ จะพบติ่งเนื้อ (polyps) ภายในลำไส้ในปริมาณตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพัน และมักจะพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ถึงแม้ว่าติ่งเนื้อเหล่านี้จะดูไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ก็จะมีโอกาสทำให้ ติ่งเนื้อเหล่านี้ลุกลามเป็นมะเร็งได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการของโรคมะเร็งเมื่อมีอายุ 44 ปี ซึ่งนับได้ว่า เร็วกว่าผู้ที่ไม่มีติ่งเนื้อ ถึง 20 ปี 



HNPCC (Hereditary Nonpolyposis Colorectal Cancer) หรือ Lynch Syndrome

     HNPCC (Hereditary Nonpolyposis Colorectal Cancer) หรือ Lynch Syndrome นับเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดแรก ๆ ถูกค้นพบ มีการถ่ายทอดในลักษณะ autosomal dominant  เช่นเดียวกับ FAP แต่พบได้บ่อยกว่าคือประมาณ 3-5% ของผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ แต่ลักษณะอาการของโรคจะหลากหลายกว่าและแยกออกจากมะเร็งลำไส้ที่ไม่ได้เกิดจาก HNPCC ได้ยาก ซึ่งวิธีแยกโรคนั้นระยะแรกมักจะใช้อายุของผู้ป่วยที่พบอาการของโรคร่วมกับการเกิดมะเร็งในตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ผนังเยื่อบุมดลูก, ท่อปัสสาวะ (urinary tract), กระเพาะอาหาร และทางเดินท่อน้ำดี  ต่อมา พบว่ามีความผิดปกติของยีน ในกลุ่มที่เรียกว่า DNA mismatch repair genes (MMR)  ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้องของการสร้างยีน เนื่องจากเซลล์ในร่างกายมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนเซลล์เดิมที่ตายไปตลอดเวลา ในขณะที่สร้างใหม่ต้องมีการตรวจสอบว่ายีนที่สร้างขึ้นใหม่สร้างได้ถูกต้องดังเดิมหรือไม่ ยีนในกลุ่มนี้มีหน้าที่ดังกล่าว ถ้ายีนในกลุ่มนี้ผิดปกติไป การตรวจสอบมีการสูญเสียไป ทำให้การสร้างยีนใหม่ผิดปกติ เป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นในปัจจุบันสามารถตรวจได้ว่ามีความผิดปกติของยีนดังกล่าวหรือไม่ ถ้าพบว่ามีความผิดปกติก็จัดเป็นโรคในกลุ่มนี้



     ถึงแม้ว่า อัตราการเกิด adenoma ระหว่างผู้ป่วย 2 ชนิดนี้จะเหมือนกัน แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงจากติ่งเนื้อไปเป็นมะเร็งนั้นดูจะเร็วมากกว่าในผู้ป่วย HNPCC โดยมีบางรายงานที่ชี้ว่า ผู้ป่วย HNPCC นั้นจะพัฒนาจาก ติ่งเนื้อเป็นมะเร็งในระยะเวลาเพียง 3–5ปีเท่านั้นเมื่อเทียบกับ 20–40 ปีในผู้ป่วยที่ไม่เป็น HNPCC และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการรอดชีวิต ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ระหว่างผู้ป่วย HNPCC กับผู้ป่วย sporadic CRC ผู้ป่วยชนิดใดมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่ากัน





ด้วยความปรารถนาดีจาก  โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง  “ ใส่ใจค้นหา  บำบัดรักษาโรคมะเร็งให้คุณ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 054 – 335262 – 8 ต่อ187



Date :

©2015, โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง

ที่อยู่ 199 หมู่.12 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
โทรศัพท์ 054-335262-8 โทรสาร 054-335273
email : saraban@lpch.go.th